ภาพกิจกรรม

เผยแพร่ผลงานวิจัย เรื่อง การจ้างแรงงานฝีมือในภาคอุตสาหกรรมไทย : บทวิเคราะห์ทางเศรษฐมิติ

22/1/2563

                    สถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์  จัดงานสัมมนาเผยแพร่ผลงานวิจัย เรื่อง การจ้างแรงงานฝีมือในภาคอุตสาหกรรมไทย : บทวิเคราะห์ทางเศรษฐมิติ โดย รศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์  อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ซึ่งได้รับทุนการวิจัยจากสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ ปีงบประมาณ 2561  โดยจัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 ณ ห้องประชุมประกอบ หุตสิงห์ อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  ซึ่งความสำคัญของงานวิจัยนี้มุ่งเพื่อการจ้างแรงงานฝีมือซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการยกระดับการผลิต โดยบทสรุปของงานวิจัยชิ้นนี้วิเคราะห์พฤติกรรมการจ้างแรงงานฝีมือของภาคอุตสาหกรรมไทยเพื่อเข้าใจปัจจัยกำหนดการจ้างแรงงานฝีมือ โดยใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์จากข้อมูลสำมะโนอุตสาหกรรมระหว่างปี 2549 2554 และ 2559 โดยปัญหาการขาดแคลนแรงงานไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่นโยบายการแก้ปัญหาส่วนใหญ่พุ่งไปที่การเพิ่มจำนวนแรงงานฝีมือเข้าสู่ตลาดผ่านระบบการศึกษา แม้มีความพยายามแก้ปัญหาด้านอื่นๆ เช่น โครงการอบรมเพื่อเพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน การให้ความช่วยเหลือสถานประกอบการในการพัฒนาฝีมือแรงงาน แต่ผลที่มีภาพรวมยังคงไม่ชัดเจน ซึ่งที่ผ่านมาการวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการจ้างแรงงานฝีมือยังไม่มีหยิบยกขึ้นมาศึกษาอย่างเป็นระบบ การละเลยปัจจัยทางด้านอุปสงค์ ทำให้การสุ่มเสี่ยงว่าการเพิ่มจำนวนแรงงานจะไม่สามารถแก้ปัญหาให้สถานประกอบการจ้างแรงงานฝีมือเพิ่มมากขึ้นได้ แต่อาจสร้างปัญหาใหม่อย่างคุณภาพแรงงานที่ไม่ตรงกับความต้องการ 

                    ผลการวิเคราะห์ทางเศรษฐมิติพบว่า ปัจจัยในระดับโรงงาน สถานประกอบการมีบทบาทสำคัญในการกำหนดความต้องการจ้างแรงงานฝีมือ เช่น การส่งออก ขนาดของสถานประกอบการ การทำวิจัยและพัฒนา นอกจากนั้นปัจจัยภายนอกอย่างสภาวะการแข่งขันก็เป็นอีกปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการจ้างแรงงานฝีมือ ที่ผ่านมาสถานประกอบการมีการนำเอาเครื่องจักรมาทดแทนแรงงาน และทำให้ความต้องการแรงงานลดลง แต่ผลการทดแทนแรงงานด้วยเครื่องจักรมีผลต่อแรงงานไร้ฝีมือมากกว่าเมื่อเทียบกับแรงงานฝีมือ โดยการศึกษาอนุมานได้ว่าในภาคอุตสาหกรรมไทย แรงงานฝีมือและแรงงานไร้ฝีมือเสริมซึ่งกันและกัน การออกแบบนโยบายการเพิ่มแรงงานฝีมือจำเป็นต้องพิจารณาการบริหารจัดการแรงงานไร้ฝีมือไปพร้อมๆ กัน เรื่องดังกล่าวอาจเชื่อมโยงไปยังนดยบายการบริหารแรงงานต่างด้าว

                    นอกจากนี้ ผู้วิจัยได้เสนอนัยเชิงนโยบายไว้เป็นประเด็นว่า การเร่งขยายจำนวนแรงงานฝีมือจำเป็นต้องสร้างสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจโดยเฉพาะบรรยากาศการแข่งขันเพื่อกระตุ้นให้สถานประกอบการตื่นตัวและมีความต้องการแรงงานฝีมือเพิ่มขึ้นไปพร้อมๆ กัน โดยการสร้างบรรยากาศการแข่งขันสามารถดำเนินการได้โดยการปฏิรูปโครงสร้างภาษีศุลกากร การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกทั้งการส่งออกและนำเข้า รวมไปถึงการมีส่วนร่วมในเครือข่ายการผลิตของบริษัทข้ามชาติ 

                    ผู้วิจัยยังได้กล่าวทิ้งท้ายไว้อีกว่า เราไม่พบความกังวลว่าการเข้าร่วมในเครือข่ายการผลิตของบริษัทข้ามชาติไม่ได้บั่นทอนการจ้างแรงงานฝีมือในภาคการผลิตแต่อย่างใด เพราะกิจกรรมที่ใช้แรงงานไร้ฝีมือในประเทศพัฒนาแล้วเป็นกิจกรรมที่ใช้แรงงานฝีมือในประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย

 

ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
website : www.icehr.tu.ac.th
Line@ : https://line.me/R/ti/p/%40icehrtu
Tel : 02-6133820 -3

เอกสารดาวน์โหลด

ไม่มีเอกสาร