ขนาดตัวอักษร
A
A
A
ความตัดกันของสี
c
c
c
TH
  • TH
  • EN

ความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานของผู้บริหารหญิงในบริษัทเอกชนไทย : มาตรการสนับสนุนเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ

77
ผู้ทำวิจัย :

รศ.ดร.เนตรนภา ไวทย์เลิศศักดิ์ (ยาบุชิตะ)

ปีที่ทำวิจัย :

2562

แหล่งทุนวิจัย :

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) งบประมาณแผ่นดิน ปี 2560

Download the document

ระบุข้อมูลเพื่อดาวน์โหลดเอกสาร

บทคัดย่อ
สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ไม่เพียงแต่ความเหลื่อมล้ำทางเพศ ยังมีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ การศึกษา และสุขภาพ ความเหลื่อมล้ำนี้จะยิ่งเพิ่มขึ้นเมื่อสังคมผู้สูงอายุเข้าสู่ภาวะวิกฤตมากขึ้น รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์เรื่อง “ความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานของผู้บริหารหญิงในบริษัทเอกชนไทย : มาตรการสนับสนุนเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ” แสดงให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศในสถานที่ทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตำแหน่งบริหารระดับสูงในบริษัทเอกชนไทย
ผลการศึกษาสถิติด้านแรงงานพบว่าอุปสงค์ต่อแรงงานหญิงยังคงสูงต่อเนื่อง โดยอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานหญิงคงอยู่ที่ร้อยละ 60 ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เมื่อดูสถานภาพการทำงาน แรงงานหญิงย้ายจากประเภททำงานให้ครอบครัวโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ไปสู่ประเภทลูกจ้างรัฐบาลและลูกจ้างบริษัทเอกชนเพิ่มขึ้น แต่เมื่อดูอาชีพพบว่าสังคมไทยมีแนวโน้มแบ่งแยกอาชีพหญิงชาย มีอคติทางเพศเห็นว่าอะไรเหมาะกับผู้หญิง อะไรเหมาะกับผู้ชาย โดยผู้หญิงจะกระจุกตัวในอาชีพการให้บริการ และงานในโรงงานที่ใช้ทักษะไม่สูงมากนัก เมื่อเทียบกับอาชีพบริหารและช่างที่ใช้ทักษะขั้นสูงกว่าของผู้ชาย และผลของความหนาแน่นในอาชีพที่มีผู้หญิงเป็นหลัก ทำให้ผู้หญิงมีแนวโน้มได้รับค่าจ้างต่ำกว่าชาย ที่น่าสนใจคือเมื่อดูอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานหญิงตามช่วงอายุ พบว่าเส้นกราฟไม่ได้เป็นเส้นตัวอักษร M กล่าวคือแรงงานหญิงไทยยังคงทำงานในช่วงวัยเจริญพันธุ์ มีแนวโน้มจบการศึกษาระดับปริญญาตรีก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่มขึ้น และมีแรงงานหญิงสูงอายุเพิ่มขึ้น
สิ่งที่น่าเป็นห่วงเมื่อสังคมผู้สูงอายุพัฒนาเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด ก็คือผู้หญิงจะต้องแบกรับภาระสองเท่าสามเท่ากับงานที่ได้รับค่าจ้าง (นอกบ้าน) และงานที่ไม่ได้รับค่าจ้าง (งานบ้าน งานดูแลบุตรและผู้สูงอายุ) เพราะสังคมไทยยังคงมีอคติทางเพศว่างานเหล่านี้เป็นงานของผู้หญิง หากไม่มีมาตรการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน จะทำให้ผู้หญิงต้องออกจากตลาดแรงงาน ซึ่งขัดแย้งกับความต้องการแรงงานหญิงที่เพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนแรงงานหนุ่มสาวที่ขาดแคลนในสังคมผู้สูงอายุ ที่วิกฤตกว่านั้นคือเมื่อผู้หญิงรู้สึกเหนื่อยล้าก็อาจจะเลือกไม่แต่งงานหรือไม่มีบุตร อัตราเกิดที่ต่ำลงจะยิ่งทำให้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอัตราเร่งมากขึ้น
    
ในด้านอุปทานแรงงานพบว่าแรงงานหญิงได้รับการศึกษาสูงขึ้น โดยเฉพาะในระดับปริญญาตรีมีสัดส่วนของนักศึกษาหญิงสูงกว่าชายแล้วในทุกคณะ ยกเว้นคณะวิศวกรรมศาสตร์ ผู้หญิงได้ลงทุนในทุนมนุษย์ด้านการศึกษา และเข้าสู่อาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาธารณสุข และบริหารธุรกิจ ที่ได้รับค่าจ้างสูงกว่าด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ทั่วไปมากขึ้น ครอบครัวขยายและการสนับสนุนของคู่สมรสเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการทำงานของผู้หญิง
    
ผลการสำรวจข้อมูลทุติยภูมิ เกี่ยวกับประวัติของผู้หญิงในคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการบริหารของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่าแม้สตรีจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ปัญหาท่อรั่ว (leaking pipeline) หรือจำนวนผู้หญิงที่ลดน้อยลงเมื่อตำแหน่งสูงขึ้นในองค์กร เพดานแก้ว (glass ceiling) หรืออุปสรรคต่างๆ ที่มองไม่เห็นกีดกันโอกาสก้าวหน้าในงานสู่ตำแหน่งระดับสูง และกำแพงแก้ว (glass walls) หรือการแบ่งแยกกลุ่มอาชีพบริหารตามเพศ เมื่อผู้หญิงขึ้นสู่ตำแหน่งระดับสูง มีแนวโน้มกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มอาชีพบริหารบางอย่างยังคงมีให้เห็นอย่างเด่นชัด
 
นอกจากนี้ผลการสำรวจด้วยแบบสอบถามและการสัมภาษณ์ผู้บริหารของบริษัทเอกชนไทย ได้ข้อสรุปว่าบริษัทเอกชนไทยไม่ได้มีวิธีการปฏิบัติที่กีดกันโอกาสก้าวหน้าในงานของผู้หญิง บริษัทส่วนใหญ่เปิดโอกาสให้ทุกคนไม่ว่าหญิงชายที่มีความรู้ความสามารถ ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งบริหารระดับสูงขององค์กรได้ทั้งสิ้น อย่างไรก็ดีแต่ละบริษัทไม่ได้มีมาตรการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานของผู้หญิงอย่างเป็นรูปธรรม สวัสดิการส่วนใหญ่ยังคงเน้นตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ในเรื่องวันลาก็มีแต่ลาป่วย ลากิจ ลาเพื่อกิจกรรมทางศาสนาเท่านั้น การลาเพื่อดูแลบุตรหรือผู้สูงอายุในครอบครัวยังคงใช้การลากิจเป็นหลัก สวัสดิการที่เพิ่มขึ้นบางอย่างก็เพื่อดึงดูดพนักงานหนุ่มสาวรุ่นใหม่ให้อยู่กับองค์กรเท่านั้น ซึ่งส่วนมากเป็นสวัสดิการด้านการออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพ และท่องเที่ยวสันทนาการ
    
บทสรุปท้ายเล่มผู้วิจัยนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 2 อันหลัก คือ นโยบายระดับชาติและนโยบายระดับองค์กร ซึ่งแบ่งเป็นอีก 3 นโยบายย่อย คือ มาตรการส่งเสริมโอกาสการจ้างงานที่เท่าเทียมกัน มาตรการส่งเสริมผู้หญิงในงานบริหาร มาตรการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน และตอนสุดท้ายของบทเป็นข้อเสนอแนะเกี่ยวกับงานวิจัยในอนาคต