รศ.ดร.สมชาย สุขสิริเสรีกุล
2560
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) งบประมาณแผ่นดิน ปี 2559
บทคัดย่อ
ความสัมพันธ์ระหว่างทุนมนุษย์ของผู้นำหน่วยงานรัฐกับการบรรลุเป้าหมายขององค์กรได้วิเคราะห์ด้วยแบบจำลองที่ใช้คะแนนผลการปฏิบัติราชการของหน่วยงานราชการที่ประเมินโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เป็นตัวแปรตาม โดยมีปัจจัย 4 กลุ่มประกอบด้วย (1) ทักษะที่ได้เรียนรู้มา (2) ประสบการณ์จากการทำงาน (3) ลักษณะขององค์กร และ (4) ข้อมูลส่วนบุคคล เป็นตัวแปรอิสระ ข้อมูลรวบรวมจาก 103 ผู้นำหน่วยงานรัฐ ผลการวิเคราะห์สมการพหุถดถอยบ่งบอกว่าคะแนนเฉลี่ยผลการเรียนที่สูง (ต่ำ) การใช้ทักษะแบบทั่วไปมาก (น้อย) การฝึกอบรมในด้านความชำนาญเฉพาะทางต่อระยะเวลาที่ทำงานในหน่วยงานปัจจุบันเป็นจำนวนน้อย (มาก) และหน่วยงานที่มีเจ้าหน้าที่จำนวนน้อย (มาก) นำมาสู่ความสำเร็จ (ความล้มเหลว) ในการบรรลุเป้าหมายของหน่วยงาน
การประมาณการประเภทและปริมาณของทุนมนุษย์ที่เหมาะสมแก่การบรรลุเป้าหมายพบว่าการเพิ่ม (ลดลง) ร้อยละ 1 ของคะแนนเฉลี่ยผลการเรียน จำนวนหลักสูตรการฝึกอบรมในด้านความชำนาญเฉพาะทางต่อระยะเวลาที่ทำงานในหน่วยงานปัจจุบัน จำนวนเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน และการใช้ทักษะแบบทั่วไปเพื่อบรรลุเป้าหมายของหน่วยงาน จะทำให้คะแนนผลการปฏิบัติราชการของหน่วยงานเพิ่มขึ้น (ลดลง) ร้อยละ 0.25 ลดลง (เพิ่มขึ้น) ร้อยละ 0.01 ลดลง (เพิ่มขึ้น) ร้อยละ 0.01 และเพิ่ม (ลดลง) ร้อยละ 0.07 ตามลำดับ
ทุนมนุษย์ของผู้นำหน่วยงานรัฐในอนาคตประเมินจาก 103 หน่วยงานเดียวกันกับผู้นำหน่วยงานรัฐในปัจจุบันเพื่อให้มีความสอดคล้องกันระหว่างผู้นำทั้งสองประเภท โดยกำหนดให้เลือกสองตัวอย่างจากหน่วยงานแต่ละแห่ง ซึ่งได้ตัวอย่างจำนวน 206 ราย แต่เนื่องจากมีตัวอย่าง 3 รายที่ให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนและถูกต้อง การวิเคราะห์จึงใช้ข้อมูลของตัวอย่างจำนวน 203 ราย การวิเคราะห์พบว่าคะแนนเฉลี่ยผลการเรียน จำนวนหลักสูตรการฝึกอบรมในด้านความชำนาญเฉพาะทางต่อระยะเวลาที่ทำงานในหน่วยงานปัจจุบัน จำนวนเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน และการใช้ทักษะแบบทั่วไปทำให้หน่วยงานได้คะแนนผลการปฏิบัติราชการเป็น 4.3592, 1.8407, 4.4251 และ 4.9064 ตามลำดับ การเปรียบเทียบส่วนต่างคะแนนผลการปฏิบัติราชการของหน่วยงานที่เกิดจากความต่างในทุนมนุษย์ระหว่างผู้นำหน่วยงานรัฐในปัจจุบันกับผู้นำหน่วยงานรัฐในอนาคตระบุว่า คะแนนเฉลี่ยผลการเรียนที่ต่ำกว่าของผู้นำหน่วยงานรัฐในอนาคตเป็นการขาดแคลนทุนมนุษย์เพียงประเภทเดียวที่ส่งผลเสียต่อการบรรลุเป้าหมายขององค์กรในอนาคต
การพยากรณ์บ่งชี้ว่าหากต้องการให้หน่วยงานได้รับคะแนนผลการปฏิบัติราชการสูงสุดแล้ว ผู้นำหน่วยงานรัฐในอนาคตควรมีคะแนนเฉลี่ยผลการเรียนไม่ต่ำกว่า 3.05 ต้องได้รับการฝึกอบรมในด้านความชำนาญเฉพาะทางต่อระยะเวลาที่ทำงานจำนวน 1.08 หลักสูตรต่อปี และสัดส่วนการใช้ทักษะแบบทั่วไปเพื่อบรรลุเป้าหมายของหน่วยงานเป็นร้อยละ 51 นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐในอนาคตควรมีเจ้าหน้าที่ 265 คนต่อแห่ง
ข้อเสนอแนะของการศึกษาคือ (1) การส่งเสริมการใช้ทักษะแบบทั่วไปของผู้นำหน่วยงาน (2)ในระยะสั้น ควรลดจำนวนหลักสูตรการฝึกอบรมในด้านความชำนาญเฉพาะทางต่อระยะเวลาที่ทำงานของผู้นำหน่วยงานในปัจจุบันลง และหันไปเพิ่มให้กับผู้นำหน่วยงานในอนาคต (3) ในระยะยาว คะแนนเฉลี่ยผลการเรียนในระดับปริญญาตรีควรนำมาเป็นเกณฑ์ในการรับข้าราชการ (พนักงานรัฐ) ใหม่และในการพิจารณาการดำรงตำแหน่งของผู้นำหน่วยงาน