นางสาวอุไรวรรณ รุ่งไหรัญ
2559
กองทุนวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ประเภทบุคคล) นักวิจัยรุ่นใหม่ รุ่นที่ 13 ปีงบประมาณ 2556
บทคัดย่อ
การศึกษาทัศนคติของผู้สูงอายุที่มีต่อสิทธิผู้สูงอายุตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ของผู้สูงอายุที่ร่วมกิจกรรมในสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาทัศนคติของผู้สูงอายุเกี่ยวกับสิทธิตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 ฯ ทั้งด้านความรู้ ความรู้สึก และพฤติกรรมการเข้าถึงสิทธิ โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการรวบรวมข้อมูลจากผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่มาร่วมกิจกรรมในสวนสาธารณะในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ สวนสราญรมย์ สวนลุมพินี สวนจตุจักร สวนสันติภาพ สวนหลวง ร.๙ สวนวชิรเบญจทัศ สวนสันติชัยปราการ และสวนเสรีไทย ผู้วิจัยได้กำหนดกลุ่มตัวอย่างเป็นจำนวน 323 คน และเก็บข้อมูลโดยบังเอิญ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติบรรยาย ซึ่งประกอบด้วย ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติทดสอบ t-test , F-test โดยกำหนดนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
ผลการศึกษาพบว่า ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุเป็นเพศหญิง ร้อยละ 53.9 รองลงมาเป็นเพศชาย ร้อยละ 46.1 ส่วนใหญ่อายุ 60-64 ปี ร้อยละ 41.5 สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา ร้อยละ 34.0 ส่วนใหญ่มีสถานภาพสมรส ร้อยละ 74.9 ส่วนใหญ่พักอาศัยอยู่กับคู่สมรสและบุตรหลาน ร้อยละ 56.1 ไม่ได้ประกอบอาชีพ ร้อยละ 62.8 มีรายได้ต่อเดือนอยู่ระหว่าง 10,001 – 20,000 ร้อยละ 35.67 และมาร่วมกิจกรรมในสวนสาธารณะด้วยการออกกำลังเป็นประจำทุกวันตลอดสัปดาห์ ร้อยละ 20.9 สำหรับทัศนคติที่มีต่อสิทธิผู้สูงอายุตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 นั้น พบว่า ผู้สูงอายุที่มาร่วมกิจกรรมในสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร มีระดับความรู้เกี่ยวกับสิทธิอยู่ในระดับปานกลาง มีความคิดเห็นอยู่ในระดับเห็นด้วยอย่างยิ่ง และมีพฤติกรรมการเข้าถึงสิทธิอยู่ในระดับต่ำ (ไม่เคยใช้สิทธิ)
นอกจากนั้นเมื่อทำการทดสอบระดับนัยสำคัญที่ระดับ .05 พบว่า ผู้สูงอายุที่พักอาศัยอยู่คนเดียวมีระดับความรู้และพฤติกรรมสูงกว่าผู้สูงอายุที่อยู่กับคู่สมรสและบุตรหลาน ผู้สูงอายุที่มีความถี่ในการมาสวนสาธารณะสูงมีความสัมพันธ์กับความคิดเห็นต่อสิทธิผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุที่มีความรู้สูงย่อมมีพฤติกรรมการเข้าถึงสิทธิสูงตามไปด้วย