ขนาดตัวอักษร
A
A
A
ความตัดกันของสี
c
c
c
TH
  • TH
  • EN

การปรับตัวทางวัฒนธรรมของนักศึกษาชาติอาเซียนในมหาวิทยาลัยของไทย : กรณีศึกษานักศึกษาชาวลาวและชาวเวียดนามในมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

65
ผู้ทำวิจัย :

ดร.ยุรนันท์ ตามกาล

ปีที่ทำวิจัย :

2561

แหล่งทุนวิจัย :

กองทุนวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทุนนักวิจัยรุ่นใหม่ ปีงบประมาณ 2560

Download the document

ระบุข้อมูลเพื่อดาวน์โหลดเอกสาร

บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่องการปรับตัวทางวัฒนธรรมของนักศึกษาชาติอาเซียนในมหาวิทยาลัยของไทย : กรณีศึกษานักศึกษาชาวลาวและชาวเวียดนามในมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1)ศึกษาสภาพปัญหาการปรับตัวทางวัฒนธรรมของนักศึกษาชาวลาวและชาวเวียดนามที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร 2)ศึกษาลักษณะการปรับตัวทางวัฒนธรรมของนักศึกษาชาวลาวและชาวเวียดนามที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร และ3)ศึกษาปัจจัยส่งเสริมและปัจจัยอุปสรรคของการปรับตัวทางวัฒนธรรมของนักศึกษาชาวลาวและชาวเวียดนามที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ใช้วิธีการวิจัยแบบผสานวิธี เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสำรวจโดยใช้แบบสอบถาม และการสัมภาษณ์เชิงลึก จากลุ่มตัวอย่าง 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 นักศึกษาชาวลาวและชาวเวียดนามที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จำนวน 21 คน สำหรับการสำรวจ และ 7 คนสำหรับการสัมภาษณ์เชิงลึก    กลุ่มที่ 2 อาจารย์และหรือเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครที่สอนหรือให้บริการกับนักศึกษาชาวลาวและชาวเวียดนาม จำนวน 5 คน สำหรับการสำรวจ และ 2 คนสำหรับการสัมภาษณ์เชิงลึก   กลุ่มที่ 3 นักศึกษาชาวไทยเพื่อนของนักศึกษาชาวลาวและเวียดนาม จำนวน 19 คน สำหรับการสำรวจ และ 5 คนสำหรับการสัมภาษณ์เชิงลึก วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติบรรยาย ความถี่ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา 
    
ผลการวิจัยในภาพรวมพบว่า 1) สภาพปัญหาการปรับตัวทางวัฒนธรรมของนักศึกษาชาวลาวและชาวเวียดนาม อยู่ในระดับ ไม่ค่อยมีปัญหาหรือมีบ้างบางครั้ง ในรายละเอียดพบว่า นักศึกษาชาวลาวและชาวเวียดนามที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครทุกคนมีปัญหาการปรับตัวทางวัฒนธรรมในเรื่องของการใช้ภาษาไทยมากที่สุด สำหรับนักศึกษาเวียดนามนั้นส่วนใหญ่แล้วไม่มีพื้นฐานทักษะภาษาไทยมาก่อนเลย ส่วนนักศึกษาชาวลาวมีทักษะการฟัง พูด และอ่านภาษาไทยมาก่อนแล้วทุกคนเนื่องจากมีความใกล้เคียงกับภาษาลาว แต่ก็ยังมีปัญหาในเรื่องของทักษะการเขียนภาษาไทย ส่วนปัญหาการปรับตัวทางวัฒนธรรมในด้านอื่น ๆ พบว่านักศึกษาชาวเวียดนามมีสิ่งที่ต้องปรับตัวทางวัฒนธรรมอยู่บ้างแต่เป็นแค่ในช่วงระยะเวลาไม่นานนักก็ปรับตัวได้และไม่ได้รู้สึกว่าเป็นปัญหาที่หนักหนามากนัก  ได้แก่ เรื่องของการใช้เวลา การใช้เสียง อาหาร อากาศ การจราจร การอาบน้ำ   ส่วนนักศึกษาชาวลาวนั้นแทบจะไม่ต้องมีการปรับตัวทางวัฒนธรรมใด ๆเลย มีเพียงแค่ความตื่นเต้นในสถานที่ สิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยในช่วงแรกเท่านั้น 2) ลักษณะการปรับตัวทางวัฒนธรรมของนักศึกษาชาวลาวและชาวเวียดนาม พบว่านักศึกษาชาวลาวและชาวเวียดนามส่วนใหญ่มีลักษณะการปรับตัวทางวัฒนธรรม  การปรับตัวแบบ Bicultural Identity  ซึ่งเป็นการรักษาอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ตนเองไว้ และในขณะเดียวกันก็มีการปรับรับเอาวัฒนธรรมใหม่หรือวัฒนธรรมหลักมาด้วย โดยนักศึกษาชาวลาวและเวียดนามส่วนใหญ่ใช้วิธีการปฏิบัติตัวตามอย่างเพื่อนนักศึกษาชาวไทย อยู่กับนักศึกษาชาวไทย รวมถึงการปฏิบัติตัวตามกฎระเบียบของมหาวิทยาลัยและของหอที่พักในกรณีที่เป็นหอพักภายในมหาวิทยาลัย โดยที่การกระทำทุกอย่างที่เหมือนกับนักศึกษาชาวไทยนั้นนักศึกษาชาวลาวและเวียดนามโดยส่วนใหญ่จะเลือกปฏิบัติหรือแสดงออกเมื่ออยู่รวมกับนักศึกษาชาวไทยหรือในขณะที่อยู่ในสถานที่หรือสถานการณ์ที่อยู่รวมกับคนไทย แต่เมื่ออยู่ในสถานที่หรือสถานการณ์เฉพาะตัวกับเพื่อนชาวเวียดนามและชาวลาวด้วยกัน พวกเขาจะยังคงปฏิบัติตัวตามวัฒนธรรมเดิมของตนเองอยู่เช่นเดิม  3) ปัจจัยส่งเสริมการปรับตัวทางวัฒนธรรมของนักศึกษาชาวลาวและชาวเวียดนาม คือ เพื่อนชาวไทย อาจารย์และเจ้าหน้าที่ เพื่อนชาติเดียวกัน  คอร์สอบรมทางด้านภาษาและวัฒนธรรมก่อนเข้าเรียนจริง  การรับชมสื่อของไทย รวมไปถึงตัวของนักศึกษาชาวลาวและชาวเวียดนามเอง   ส่วนปัจจัยอุปสรรคการปรับตัวทางวัฒนธรรมได้แก่ การที่ไม่ได้มีการเรียนภาษาไทยมาก่อน การเกาะกลุ่มอยู่กับเพื่อนชาติเดียวกัน และ การที่ไม่มีระบบพี่เลี้ยงคอยดูแลนักศึกษาต่างชาติเป็นการส่วนตัว รวมไปถึงการสื่อสารกับคนรอบข้างด้วยภาษาอังกฤษ และ การไม่บริโภคสื่อของไทย โดยที่อุปสรรคสำคัญที่สุด คือ ภาษาและพฤติกรรมการเกาะกลุ่มอยู่กับเพื่อนชาติเดียวกัน