ดร.ยุรนันท์ ตามกาล,นางสาวอุไรวรรณ รุ่งไหรัญ, นางสาวคริษฐา อ่อนแก้ว
2562
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) งบประมาณแผ่นดิน ปี 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่องการศึกษาคุณภาพชีวิตและคุณภาพชีวิตการทำงานของแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรม
การประมงและต่อเนื่องประมงในประเทศไทย เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์การวิจัย 4 ข้อ ได้แก่ 1) เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตในภาพรวมของแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมการประมงและต่อเนื่องประมงของไทย 2) เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตการทำงานของแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมประมงและต่อเนื่องประมงของไทย ตามหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานของสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) 3) เพื่อศึกษาการดำเนินการบริหารจัดการดูแลคุณภาพชีวิตและการทำงานของแรงงานข้ามชาติขององค์กรที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย 4) เพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการทำงานของแรงงานข้ามชาติ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมประมงและต่อเนื่องประมงของประเทศไทย เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกจากกลุ่มตัวอย่าง 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 เจ้าหน้าที่ภาครัฐของไทย ที่ทำงานในองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการดูแลคุณภาพชีวิตและคุณภาพชีวิตการทำงานของแรงงานข้ามชาติ จำนวน 25 คน กลุ่มที่ 2นายจ้างหรือเจ้าของกิจการในอุตสาหกรรมการประมงและต่อเนื่องประมงในประเทศไทยที่มีแรงงานข้ามชาติเป็นลูกจ้าง จำนวน 25 คน และกลุ่มที่ 3 แรงงานข้ามชาติ (แรงงานต่างด้าว)ที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมการประมงและต่อเนื่องประมงในประเทศไทย จำนวน 50 คน ในพื้นที่ทำการศึกษา 5 พื้นที่ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ติดทะเลมีการทำอุตสาหกรรมประมงทะเลและต่อเนื่องประมง ได้แก่ จังหวัด สมุทรสาคร สุราษฎร์ธานี สมุทรปราการ สงขลา และชลบุรี โดยเก็บรวบรวมข้อมูลในเดือนเมษายน 2561 ถึง เดือนพฤศจิกายน 2561
ผลการวิจัยพบว่า ในปัจจุบันแรงงานต่างด้าวทั้งในภาคประมงทะเลและภาคต่อเนื่องประมงทะเลมีคุณภาพชีวิตและคุณภาพชีวิตการทำงานที่ดีขึ้นกว่าในอดีตเป็นอย่างมาก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเกี่ยวกับกิจการประมงทะเลหลายฉบับในช่วงปี 2557 จนถึงปัจจุบัน (2561) รวมทั้งการเกิดขึ้นของศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก (Port in and port out Control Centre : PIPO) ส่งผลให้มีการควบคุม ติดตาม ตรวจสอบการบริหารจัดการการดูแลคุณภาพชีวิตและคุณภาพชีวิตการทำงานของแรงงานต่างด้าวในภาคส่วนดังกล่าวเป็นไปอย่างเคร่งครัด และมีบทลงโทษต่อผู้ฝ่าฝืนที่ค่อนข้างรุนแรง นายจ้างและเจ้าของกิจการทั้งในภาคประมงทะเลและต่อเนื่องประมงทะเลต้องดำเนินการตามกฎระเบียบที่มีมากขึ้นทั้งในส่วนของการจัดการเรือประมงและลูกจ้างแรงงานต่างด้าว ทั้งหมดนี้ส่งผลให้คุณภาพชีวิตและคุณภาพชีวิตการทำงานของแรงงานต่างด้าวดีขึ้น