ดร.นราเขต ยิ้มสุข,นางสาวอุไรวรรณ รุ่งไหรัญ
2559
กองทุนวิจัยสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ ปี 2558
บทคัดย่อ
การศึกษา “การเปรียบเทียบพฤติกรรมการบริโภคแบบพอเพียงของแรงงานต่างเจนเนอเรชั่นในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของแรงงานในเขตนิคมอุตสาหกรรม นวนครต่างเจนเนอเรชั่น บี เอ็กซ์ และวายต่อพฤติกรรมการบริโภคแบบพอเพียง การศึกษาในครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (survey research) ผู้วิจัยใช้วิธีวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติด้วยการหาความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเพื่อศึกษาข้อมูลส่วนบุคคล ส่วนพฤติกรรมการบริโภคแบบพอเพียง ใช้ F-test ทดสอบสมมติฐาน
ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 56.7 ส่วนใหญ่เป็นเจนเนอเรชั่นเอ็กซ์ ร้อยละ 43.0 รองลงมา ได้แก่ เจนเนอเรชั่นวาย ร้อยละ 36.5 และเจนเนอเรชั่นบี ร้อยละ 21.5 ตามลำดับ ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ร้อยละ 54.2 มีตำแหน่งปฏิบัติการ ร้อยละ 77.40 มีค่าเฉลี่ยรายได้ต่อเดือน เท่ากับ 18,044 บาท และมีประสบการณ์การทำงานเฉลี่ย 11 ปี กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ มีสถานภาพทางเศรษฐกิจรายได้พอดีกับรายจ่าย ร้อยละ 49.6 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ มีภูมิลำเนาภาคอีสาน ร้อยละ 33.4 มีค่าใช้จ่ายในการอยู่อาศัยแบบตนเองเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายทั้งหมด ร้อยละ 60.9 กิจกรรมยามว่างของเจนเนอเรชั่นบีและเอ็กซ์ส่วนใหญ่ คือ ดูโทรทัศน์ อยู่บ้านนอนพักผ่อน ร้อยละ 80.23 และ 52.15 ตามลำดับ ส่วนเจนเนอเรชั่นวายส่วนใหญ่มีกิจกรรมยามว่าง คือ ดูหนัง ฟังเพลง ร้อยละ 58.22
ระดับพฤติกรรมการบริโภคแบบพอเพียงของแรงงานในนิคมอุตสาหกรรมนวนครของกลุ่มตัวอย่าง ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการบริโภคแบบพอเพียงอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายองค์ประกอบของพฤติกรรมการบริโภคแบบพอเพียง พบว่า ไม่ตามกระแส เป็นองค์ประกอบที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาคือ การรู้คุณค่าทรัพย์สิน การบริโภคตามความจำเป็น การเปรียบเทียบ และการค้นหาข้อมูล ตามลำดับ และจากผลการทดสอบสมมติฐานการวิจัย พบว่า แรงงานในนิคมอุตสาหกรรมนวนครที่มีเจอเนอเรชั่นแตกต่างกัน จะมีพฤติกรรมการบริโภคแบบพอเพียงแตกต่างกัน โดยที่เจนเนอเรชั่นบี มีพฤติกรรมการบริโภคแบบพอเพียงมากกว่าเจนเนอเรชั่นเอ็กซ์และวาย