รศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์
2562
กองทุนวิจัยสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ ปี 2561
ทักษะของแรงงานมีบทบาทสำคัญในกระบวนการยกระดับการผลิตเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ความเข้าใจกี่ยวกับพฤติกรรมของสถานประกอบการแต่ละรายในแง่ว่าจะจ้างแรงงานฝีมือมากน้อยเพียงใดยังมีข้อจำกัดทั้งๆ ที่เป็นองค์ความรู้ที่สำคัญและจำเป็นในการออกแบบนโยบายการเตรียมแรงงานให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด การวิเคราะห์เศรษฐมิติพบว่าสถานการณืประกอบการขนาดใหญ่มีปฏิสัมพันธ์กับเศรษฐกิจโลกไม่ว่าการส่งสินค้าไปจำหน่ายต่างประเทศ และ/หรือ โรงงานที่นำเข้าวัตถุดิบ/สินค้าขั้นกลางจากต่างประเทศ มีการลงทุนในการวิจัยและพัฒนามีแนวโน้มจ้างแรงงานฝีมือมากกว่าสถานประกอบการอื่นๆ แม้เราพบว่าสถานประกอบการที่ส่งออกมีแนวโน้มจ้างแรงงานฝีมือมากกว่าสถานประกอบการที่ไม่ส่งออก แต่แรงงานไร้ฝีมือและแรงงานฝีมือทำงานเสริมกันมากกว่าการทดแทนกัน สิ่งแวดล้อมทางธุรกิจอย่างระดับการแข่งขันภายในประเทศและการแข่งขันจากตลาดโลกมีส่วนช่วยกระตุ้นให้สถานประกอบการตื่นตัวในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและจ้างแรงงานฝีมือเพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้นการที่อุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงผ่านเครือข่ายการผลิตข้ามชาติ (Global Production Sharing) ยังส่งผลกระตุ้นให้สถานประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมดังกล่าวมีแนวโน้มใช้แรงงานฝีมือเพิ่มมากขึ้น นัยเชิงนโยบายที่สำคัญจากการศึกษา คือ การกระตุ้นให้สถานประกอบการจ้างแรงงานฝีมือต้องดำเนินการคู่ขนาดกับความพยายามเพิ่มแรงงานฝีมือเข้าสู่ตลาดแรงงานที่ภาครัฐพยายามดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน โดยสามารถกระตุ้นผ่านการสร้างบรรยากาศการแข่งขันภายในประเทศให้เพิ่มมากขึ้นและหลีกเลี่ยงการออกแบบนโยบายกระตุ้นในลักษณะเหวี่ยงแห (Big-push) บนพื้นฐานที่ว่าสถานประกอบการทุกแห่งเหมือนกัน
คำสำคัญ
การจ้างแรงงานฝีมือ โครงข่ายการผลิตบริษัทข้ามชาติ ความหลากหลายของผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมไทย